เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 5. สุกกาเถริยาปทาน
[123] ในกัปนี้เอง พระมุนีพระนามว่ากัสสปะ
เป็นศาสดาผู้ประเสริฐ เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ไม่มีข้าศึกคือกิเลส ถึงที่สุดแห่งมรณธรรม เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[124] หม่อมฉันบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า
ทรงเป็นนระ ผู้เป็นปราชญ์พระองค์นั้น
ศึกษาพระสัทธรรมอย่างคล่องแคล่ว
มีความแกล้วกล้าในปริปุจฉา1
[125] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันมีศีลงาม มีความละอาย
ฉลาดในไตรสิกขา กล่าวธรรมเป็นอันมากจนตลอดชีวิต
[126] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นและด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[127] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐีที่เจริญมั่งคั่ง
สั่งสมรัตนะมากมาย ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด
[128] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำ
มีภิกษุ 1,000 รูปห้อมล้อม
ท้าวสหัสสนัยน์สรรเสริญแล้ว เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
[129] พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอินทรีย์แล้ว
พ้นขาดจากสรรพกิเลส มีวรรณะเปล่งปลั่งดั่งแท่งทอง
เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ พร้อมทั้งพระขีณาสพ
ผู้เป็นปุราณชฎิล ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว
พ้นเด็ดขาดจากสรรพกิเลส

เชิงอรรถ :
1 ปริปุจฉา หมายถึงการถาม การไต่สวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :536 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 5. สุกกาเถริยาปทาน
[130] หม่อมฉันได้เห็นพุทธานุภาพ
และได้ฟังธรรมซึ่งเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก1
[131] ต่อมา หม่อมฉันได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในสำนักของพระธรรมทินนาเถรี
[132] หม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายได้ในขณะที่กำลังปลงผม
บวชแล้วไม่นาน ก็ศึกษาศาสนธรรมได้อย่างทั่วถึง
[133] ต่อจากนั้น ได้แสดงธรรมในสมาคมแห่งมหาชน
เมื่อหม่อมฉันกำลังแสดงธรรมอยู่
การบรรลุธรรมก็ได้มี
[134] มียักษ์ตนหนึ่ง ได้ทราบการตรัสรู้ธรรมนั้น
ของสัตว์หลายพันแล้ว เกิดอัศจรรย์ใจ
เลื่อมใสต่อหม่อมฉันได้ไปยังกรุงราชคฤห์
[135] มนุษย์ทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ที่ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้
พระเถรีชื่อว่าสุกกา ผู้แสดงอมตบทอยู่
หม่อมฉันจะให้ดื่มอมตบทเหมือนดื่มน้ำผึ้งได้อย่างไร
[136] ก็แลพวกเขาผู้มีปัญญา คงจะดื่มอมตบทนั้น
อันมีสภาพไม่ถอยกลับ ให้เกิดความชื่นใจมีโอชาได้
เหมือนคนเดินทางไกลแสวงหาน้ำดื่ม
[137] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ

เชิงอรรถ :
1 พลธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นกำลัง มี 5 อย่าง (1) สัทธา(ความเชื่อ) (2) วิริยะ(ความเพียร)
(3) สติ(ความระลึกได้) (4) สมาธิ(ความตั้งจิตมั่น) (5) ปัญญา(ความรู้แจ้ง) (ที.ปา. (แปล) 11/331/335)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :537 }